หลังเข้ารับการปลูกผมถาวรเรียบร้อยแล้ว ทราบหรือไม่ว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรก คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการดูแลเส้นผมใหม่ให้อยู่รอดเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระยะ 1 - 5 วันแรก เป็นช่วงที่เซลล์รากผมที่เพิ่งปลูกใหม่ยังไม่แข็งแรงดี ขณะเดียวกันเส้นเลือดฝอยใหม่ก็ยังเชื่อมต่อกับรากผมไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเส้นผมได้เต็มที่ ประกอบกับการที่เกล็ดเลือดบริเวณที่ปลูกผมใหม่กำลังค่อย ๆ แข็งตัว
หากเราดูแลเส้นผมและหนังศีรษะไม่ดีเพียงพอ หรือดูแลผิดวิธี ก็มีโอกาสที่กราฟต์ผม หรือกอผมที่ปลูกใหม่จะหลุดออก หรือมีเลือดออกเพิ่มเติมได้ บางรายอาจเกิดสิวขึ้นบริเวณกราฟต์ผมใหม่ จากการที่ต่อมไขมันไม่สามารถขับไขมันออกมาภายนอกได้ จนเกิดการอุดตันของรูขุมขน และบางรายอาจเกิดอาการรากผมอักเสบจนผมหลุดร่วงได้เช่นกัน
ดังนั้น ช่วง 2 สัปดาห์แรก จึงอาจเรียกว่าเป็นช่วงเวลาชี้ชะตาความอยู่รอดของเส้นผมใหม่ ซึ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ต่อไปนี้คือวิธีการดูแลเส้นผมบริเวณที่ปลูกใหม่อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เส้นผมใหม่โบกมือลาหลุดร่วงไปก่อนกำหนด
- อาการคันศีรษะหลังปลูกผมเป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากแผลกำลังเริ่มแห้ง อย่างไรก็ตาม อาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเอง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสบริเวณที่ปลูกผมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแคะ แกะ เกา
- แผ่นสะเก็ดสีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม เกิดจากเลือดและน้ำเหลืองแห้งแข็งหลังการปลูกผม ทำหน้าที่หยุดการไหลของเลือด ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล และยังช่วยยึดกราฟต์ผมไว้ด้วย การแกะแผ่นสะเก็ดอาจส่งผลให้กราฟต์ผมหลุดได้ อย่างไรก็ตาม สะเก็ดเหล่านี้จะทยอยหลุดร่วงออกไปเองตามธรรมชาติภายในระยะ 1 – 2 สัปดาห์ แพทย์อาจนัดผู้เข้ารับการปลูกผมให้มาสระผมเพื่อทำความสะอาดสะเก็ดออก หรืออาจให้คำแนะนำแก่ผู้เข้ารับการปลูกผมในการสระผมเองที่บ้าน
- ระมัดระวังการสวมหมวก ผ้าคลุมผม ที่อาจทำให้เกิดการเสียดสีกับบริเวณผมปลูกใหม่
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกใด ๆ บริเวณศีรษะ เช่น การขึ้นลงจากรถ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการโดนความร้อน เช่น แสงแดดแรง ๆ ความร้อนจากไดร์เป่าผม น้ำอุ่น โยคะร้อน หรือการอบซาวน่า เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายทุกชนิด อย่างน้อย 3 วันหลังการปลูกผม จากนั้นจึงเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ และระมัดระวังกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกในปริมาณมาก
- ควรงดการว่ายน้ำเป็นระยะเวลา 1 เดือน
- ดูแลท่านอนให้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น หากปลูกผมบริเวณหน้าผาก ควรนอนหงาย เพื่อป้องกันโอกาสการหลุดร่วงของผมใหม่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารจำเป็นสำหรับเส้นผม เช่น โปรตีน และวิตามินต่าง ๆ รวมถึงรับประทานอาหารเสริมตามความจำเป็น ภายใต้การดูแลของแพทย์
หลังจากผ่านช่วงเวลา 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว เราจึงสามารถวางใจได้ว่ารากผมฝังตัวอย่างมั่นคงในชั้นหนังศีรษะ ในช่วงนี้ แพทย์อาจนัดผู้เข้ารับการปลูกผมมาตรวจสุขภาพผมและหนังศีรษะเบื้องต้น เพื่อประเมินความหนาแน่นของเส้นผมปลูกใหม่ ที่สำคัญ แพทย์จะดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยการให้บริการฉายแสงกระตุ้นรากผม โดยใช้แสง Low level laser ความยาวคลื่น 650 นาโนเมตร ซึ่งผ่านการวิจัยรับรองแล้วถึงความสามารถในการเร่งการเจริญเติบโตของรากผม และความปลอดภัยต่อร่างกายและดวงตาของผู้เข้ารับการรักษา
ภาพการฉายแสง
นอกจากนั้น ยังมีบริการ Plasma Hair PRP ซึ่งแพทย์จะเจาะเลือดของผู้เข้ารับการปลูกผมเพียงเล็กน้อย นำไปเข้าเครื่องเหวี่ยงสารเพื่อแยกเอาเฉพาะส่วนของเลือดที่มี Growth Factors ความเข้มข้นสูง ฉีดกลับเข้าไปบริเวณหนังศีรษะร่วมกับวิตามิน เพื่อลดการอักเสบ กระตุ้นการเติบโตและการแบ่งเซลล์ของรากผม รวมถึงลดการหลุดร่วงของเส้นผมด้วย
การฉีด PRP ที่รากผม
ในระยะต่อ ๆ มา ช่วง 2 – 4 สัปดาห์หลังการปลูกผม จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Shock loss นั่นคือการที่เส้นผมใหม่เริ่มทยอยหลุดร่วงออกประมาณร้อยละ 80 และอาจเข้าสู่ระยะพัก ทำให้ไม่มีผมงอกขึ้นใหม่ประมาณ 1 – 2 เดือน ซึ่งผู้เข้ารับการปลูกผมหลาย ๆ คนอาจจะตกใจ แต่ที่จริงแล้ว เป็นการหลุดร่วงของเส้นผมตามธรรมชาติเท่านั้น โดยรากผมที่เราปลูกไว้ยังคงอยู่ เพื่อให้เส้นผมเตรียมงอกขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนที่ 4
ซึ่งหลังจากเดือนที่ 4 นี้เอง จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ของการปลูกผมได้อย่างชัดเจน นั่นคือเส้นผมแข็งแรง หนาแน่น มีอัตราความยาวเท่ากับเส้นผมเก่า ทั้งยังมีทิศทางการเรียงตัวของเส้นผมดูเป็นธรรมชาติและกลมกลืนไปกับเส้นผมเดิม และหลังจากปลูกผมแล้วประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง เส้นผมจะเติบโตแข็งแรงอย่างสมบูรณ์ และคงอยู่อย่างถาวร