Tag : กราฟต์ผม
ปลูกผมใหม่ ทำไมต้องแคร์ “ผมต้นทุน”
ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำความรู้จักกับเทคนิคการปลูกผมแบบถาวร ก็คงจะได้ยินคำว่า “ผมต้นทุน” บ่อย ๆ แน่ ๆ ...แล้วทำไมต้องแคร์ผมต้นทุนขนาดนั้น... มาเจาะลึกความสำคัญของผมต้นทุนกันให้มากขึ้น เพื่อให้เราวางแผนการรักษาภาวะผมร่วงและผมบางร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญได้ ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

เส้นผม ...เรื่องใหญ่ ใกล้ตัว...
เส้นผมของคนเรามีลักษณะแตกต่างกัน โดยปัจจัยทางพันธุกรรมอาจทำให้บางคนมีเส้นผมเล็กไม่ค่อยมีน้ำหนัก ขณะที่บางคนมีเส้นผมหนา หยิกฟู จัดทรงยาก ขณะเดียวกัน การที่ต่อมน้ำมันบนหนังศีรษะผลิตน้ำมันออกมาน้อยหรือมาก ก็ทำให้เกิดผมแห้งหรือผมมัน อีกทั้งหากใช้สารเคมีหรือความร้อนกับผมบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดผมแตกปลายได้ด้วย

ลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ก็คือความหนาแน่นของเส้นผม บางคนมีผมดกหนา บางคนมีผมบาง ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็มาจาก “กราฟต์ผม” ด้วย กราฟต์ผมหรือกอผม คือกลุ่มของเส้นผมที่อยู่รวมกันใน 1 รูขุมขนบนหนังศีรษะ อาจมีเส้นผมได้ตั้งแต่ 1-4 เส้นในกราฟต์ผมเดียว ซึ่งตรงนี้เองมีส่วนที่ทำให้คนเรามีผมต้นทุนที่สามารถนำไปปลูกใหม่ได้มากหรือน้อยไม่เท่ากัน



ผมต้นทุน คืออะไร
ผมต้นทุน ก็คือผมบริเวณ Safe Zone ที่อยู่ด้านหลังท้ายทอย คุณสมบัติพิเศษของผมที่ขึ้นบริเวณนี้ ก็คือความสามารถในการต้านทานฮอร์โมน DHT หรือ Dihydrotestosterone ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกฤทธิ์ทำให้รูขุมขนบนหนังศีรษะมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้เส้นผมที่งอกขึ้นมามีลักษณะเส้นสั้นและบาง อ่อนแอ หลุดร่วงง่าย จนเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ คนเกิดภาวะผมบาง ไปจนถึงผมล้านได้

ดังนั้น ผมบริเวณด้านหลังท้ายทอยจึงมีความแข็งแรง ยากที่จะหลุดร่วงก่อนเวลา และเป็นผมในส่วนที่แพทย์ผู้ชำนาญเลือกนำมาใช้ในการปลูกผมใหม่ เพราะแม้จะย้ายมาปลูกบนพื้นที่ใหม่ในบริเวณใดก็ตาม คุณสมบัติความแข็งแรงไม่หลุดร่วงง่ายนี้ จะยังอยู่ไปตลอดวงจรชีวิตของเส้นผมเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม ผมต้นทุนบริเวณด้านหลังท้ายทอยนี้ มีปริมาณจำกัด หมดแล้วหมดเลย อีกทั้งแต่ละคนก็มีปริมาณไม่เท่ากัน เพราะอย่างที่กล่าวถึงไปแล้วว่า ในกราฟต์ผมหนึ่งอาจมีผมได้ตั้งแต่ 1-4 เส้น บางคนที่มีเส้นผมเพียง 1 หรือ 2 เส้นต่อ 1 กราฟต์ นั่นแปลว่ามีผมต้นทุนที่นำไปปลูกใหม่ได้ค่อนข้างน้อย ทำให้การปลูกผมใหม่ของแต่ละคน มีข้อจำกัด ไม่อาจปลูกได้ตามใจหรือปลูกกี่ครั้งก็ได้แบบที่หลายคนเคยเข้าใจ


ใช้ผมต้นทุนอย่างไร ให้เหมาะสม
ถ้าอย่างนั้นแล้ว แพทย์ผู้ชำนาญจะมีวิธีการวิเคราะห์ และบริหารจัดการผมต้นทุนของผู้เข้ารับบริการปลูกผมอย่างไร ในขั้นตอนแรก ๆ ของการปลูกผม แพทย์จะต้องประเมินพื้นที่ปลูกผมใหม่ ว่ากินบริเวณกว้างแค่ไหน จำเป็นต้องใช้กราฟต์ผมต้นทุนมากน้อยเท่าไร แล้วมาดูปริมาณกราฟต์ผมต้นทุนที่คนไข้มี ก่อนจะคำนวณปริมาณกราฟต์ผมต้นทุนที่จะใช้ในการปลูกผมใหม่ให้ เหมาะสม และ คุ้มค่า มากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่า หากถอนย้ายกราฟต์ผมต้นทุนออกจากด้านหลังท้ายทอยแล้ว บริเวณนั้นก็จะไม่มีผมขึ้นใหม่มาทดแทนได้อีก


ดังนั้น แพทย์จึงต้องถอนย้ายกราฟต์ผมต้นทุนออกในปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอที่จะเติมเต็มความหนาแน่นและแก้ปัญหาผมบางในพื้นที่ปลูกใหม่ หรือหากยังมีกราฟต์ผมต้นทุนเหลือแม้ปลูกครบแล้ว แพทย์ก็จะทำการปลูกแทรกให้โดยไม่ทิ้งกราฟต์ผมต้นทุนให้เสียเปล่า ขณะเดียวกันก็ไม่ถอนย้ายออกมามากเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ผมด้านหลังบางลงจนจัดทรงผมเพื่อปกปิดได้ยาก ที่สำคัญ แพทย์อาจต้องเหลือผมต้นทุนไว้สำหรับการปลูกในครั้งต่อไป ในกรณีที่คนไข้มีแนวโน้มว่าจะมีภาวะผมร่วงผมบางต่อในบริเวณอื่น ๆ อีกด้วย

ผมต้นทุน จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการวางแผนปลูกผมของแพทย์ และต้องวิเคราะห์อย่างละเอียด ถี่ถ้วน รอบคอบ โดยผู้เข้ารับบริการปลูกผมควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจในขั้นตอนและเทคนิคการปลูกผม รวมถึงพูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อช่วยกันใช้ทรัพยากรเส้นผมที่มีอยู่จำกัดนั้น ให้คุ้มค่าและได้ผลมากที่สุดนั่นเอง

แกะสูตรคำนวณกราฟต์ สำหรับมือใหม่อยากปลูกผม
ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่เริ่มสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผม คุณจะต้องได้ยินได้เห็นคำว่า “กราฟต์ผม” อยู่บ่อย ๆ อย่างแน่นอน 

วันนี้ เราจึงรวบรวมเรื่องน่ารู้ของกราฟต์ผม ที่แพทย์อยากบอกกับคนไข้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินกราฟต์ผมที่เหมาะสมในการปลูกใหม่ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อผลลัพธ์ความสำเร็จในการปลูกผมให้ดูหนาแน่นเป็นธรรมชาติแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกระเป๋าสตางค์ของคุณโดยตรงอีกด้วย เพราะการตัดสินใจปลูกผมครั้งนี้จะคุ้มค่าสมราคาแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการคำนวณกราฟต์ผมบนพื้นฐานปัจจัยต่าง ๆ ด้วยนั่นเอง 

...มาเจาะลึกเบื้องหลังการทำงานของแพทย์กับกราฟต์ผมแบบครบทุกมิติไปพร้อม ๆ กันเลย...



กราฟต์ผมคืออะไร
ทราบหรือไม่ว่า ในการย้ายผมแข็งแรงจากท้ายทอยด้านหลังศีรษะ มาปลูกใหม่ในพื้นที่ที่มีปัญหาผมร่วงหรือผมบาง แพทย์ไม่ได้ย้ายเส้นผมออกมาทีละเส้นเดี่ยว ๆ แต่นำออกมาทีละ “กราฟต์ผม” 

“กราฟต์ผม” หรือ Hair Graft นี้ อาจจะเรียกว่ากอผมก็ได้ เพราะเป็นกลุ่มของเส้นผมที่อยู่รวมกันเป็นกระจุกหรือเป็นกอ แต่ละคนอาจมีจำนวนเส้นผมใน 1 กราฟต์ ได้ตั้งแต่ 1 – 4 เส้น โดยทั่วไป กราฟต์ เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้เรียกเนื้อเยื่อที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งนำออกมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมบริเวณอื่น ๆ หรือถ้าใครเคยได้ยินชื่อเทคนิคอย่าง FUT และ FUE ตัว F นั้นก็ย่อมาจากคำว่า Follicular Unit ซึ่งเป็นศัพท์อีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกกราฟต์ผมแบบเป็นทางการได้เช่นกัน

ว่าแต่ทำไมต้องนำกราฟต์ผมออกจากท้ายทอยด้านหลังศีรษะด้วยล่ะ นั่นก็เพราะเซลล์รากผมในบริเวณนั้นมีความต้านทานฤทธิ์ของฮอร์โมน DHT ซึ่งเป็นตัวการทำให้เส้นผมของเราชะลอการเจริญเติบโตและหยุดการสร้างใหม่ จนส่งผลให้เกิดอาการผมร่วง ผมบาง และผมล้านได้ในที่สุด แพทย์จึงเลือกนำ “ผมต้นทุน” ในบริเวณนั้นมาปลูกใหม่ เพราะไม่ว่าจะย้ายไปปลูกที่ไหน คุณสมบัติความแข็งแรงไม่หลุดร่วงง่าย ก็จะอยู่กับเส้นผมเหล่านั้นแบบถาวรตลอดชีวิตของเจ้าของเส้นผมเลยทีเดียว

ทำไมต้องประเมินกราฟต์ผม
หลายคนอาจดีใจเมื่อได้ยินว่า คนเรามีผมต้นทุนคุณสมบัติมหัศจรรย์ที่สามารถต้านทานการหลุดร่วงแบบถาวรได้ เหมือนมีอะไหล่สำรองเก็บไว้ด้านหลังศีรษะ แต่คำถามสำคัญก็คือ ปัญหาผมร่วงผมบางของเรา ต้องการผมต้นทุนมาช่วยมากน้อยแค่ไหน แล้วผมต้นทุนที่เรามี จะเพียงพอแก้ปัญหาให้เราได้อย่างสมบูรณ์แบบมั้ย

นั่นจึงเป็นที่มาของการประเมินกราฟต์ผม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ ในการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ของคนไข้แบบเฉพาะบุคคลหรือ Tailor-made เนื่องจากคนไข้มาด้วยปัญหาและเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกันเลยสักคน เพื่อคำนวณกราฟต์ผมที่ต้องใช้ให้ตอบโจทย์ปัญหาของคนไข้มากที่สุด

รู้จักปัจจัยในการประเมินกราฟต์ผม




ผมต้นทุนด้านหลัง 
แต่ละคนมีผมต้นทุนบริเวณ Doner Area หรือช่วงท้ายทอยด้านหลังศีรษะไม่เท่ากัน ใครที่มีผมหนาแน่นปริมาณมาก ก็พอจะวางใจได้ว่าสามารถย้ายไปปลูกพื้นที่อื่น ๆ ได้เยอะ แต่บางคนที่มีผมต้นทุนอยู่น้อย แพทย์ก็จะต้องช่วยวางแผนการใช้กราฟต์ผมต้นทุนที่เหมาะสม เพราะอย่าลืมว่า หลังย้ายกราฟต์ผมออกแล้ว เราจะต้องเหลือผมด้านหลังไว้ ไม่ให้ดูบางจนเกินไปด้วย

นอกจากปริมาณผมต้นทุนแล้ว คุณภาพก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน แพทย์ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า ผมต้นทุนมีความแข็งแรงแค่ไหน มีขนาดหนาหรือบางอย่างไร และใน 1 กราฟต์ผม มีเส้นผมอยู่กี่เส้น ซึ่งบางคนอาจมีผมหนา และมีถึง 4 เส้น ขณะที่บางคนอาจมีผมเส้นบาง และมีเพียง 1-2 เส้นเท่านั้น นั่นหมายความเราจะต้องใช้กราฟต์ผมในการปลูกใหม่จำนวนมากขึ้นนั่นเอง



พื้นที่ที่มีปัญหาผมร่วงผมบาง
สำรวจความพร้อมของผมต้นทุนกันแล้ว ก็มาวิเคราะห์ความรุนแรงของปัญหาผมในบริเวณที่ต้องการปลูกผมใหม่ หรือ Recipient Area กันบ้าง บางคนเพิ่งเริ่มเข้าสู่ภาวะผมบางเพียงเล็กน้อยหรือเป็นหย่อมเล็ก ๆ  ขณะที่บางคนอาจเริ่มมีภาวะผมล้าน หรือกินพื้นที่กว้างจนเห็นได้ชัดแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินบริเวณที่จะปลูกใหม่ด้วย ว่าเป็นการปลูกบริเวณหน้าผากเพื่อเติมกรอบหน้า หรือเป็นการปลูกตรงกลางศีรษะซึ่งก็มีอาการผมบางอยู่หลายระดับ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการจำนวนกราฟต์ผมและความหนาแน่นในการปลูกใหม่ไม่เท่ากัน

ความหนาแน่นของเส้นผม
เคยสงสัยมั้ยว่า ในพื้นที่ 1 ตาราเซนติเมตร มีกราฟต์ผมอยู่ปริมาณเท่าไหร่ คำตอบก็จะแตกต่างกันไปตามความหนาแน่นของเส้นผมตามธรรมชาติของแต่ละคน แต่โดยเฉลี่ยแล้ว คนเราจะมีกราฟต์ผมประมาณ 80 -100 กราฟต์ / ตารางเซนติเมตร 

ซึ่งโดยทั่วไป การปลูกผมใหม่สามารถปลูกเพียงร้อยละ 60-80 ของปริมาณกราฟต์ทั่วไป ก็ถือว่าเพียงพอ แต่ก็ต้องขึ้นกับลักษณะของปัญหาผมด้วย เช่น หากคนไข้มีภาวะศีรษะล้านจนไม่มีผมเหลืออยู่เลย ก็อาจต้องปักกราฟต์ผมแบบเต็มจำนวนเมื่อเทียบกับปริมาณปกติ แต่หากคนไข้เพียงต้องการเติมผมที่ดูบางให้กลับมาหนาแน่น อาจจะปักกราฟต์ผมเพียงร้อยละ 50 หรือน้อยกว่านั้นเมื่อเทียบกับปริมาณปกติก็ได้

ทั้งนี้ แพทย์จะช่วยประเมินแผนการรักษาระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีผมต้นทุนค่อนข้างจำกัด อาจจะปลูกผมได้ไม่หนาแน่นเต็มที่ หรือหากมองถึงอนาคตว่าอาจต้องมีการปลูกผมซ้ำหรือเพิ่มเติมจากปัญหาผมร่วงในบริเวณใหม่ ๆ ก็จำเป็นต้องเก็บสำรองผมต้นทุนไว้เผื่อเช่นกัน


เทคนิคที่ใช้ปลูกผม
ด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกันของเทคนิคการปลูกผมแต่ละแบบ จึงเอื้อให้แพทย์สามารถปลูกผมใหม่ได้ในปริมาณความหนาแน่นที่ต่างกันตามไปด้วย หากเป็นเทคนิค FUE แบบเดิม จะสามารถปลูกได้ประมาณ 30-40 กราฟต์ผม / ตารางเซนติเมตร เพราะเป็นการใช้เข็มเจาะและใช้คีมคีบกราฟต์ผมลงมาปลูก ทำให้หนังศีรษะเกิดอาการตึงชั่วขณะ ซึ่งหากปลูกผมหนาแน่นเกินไป กราฟต์ผมโดยรอบที่ปลูกไว้แล้วจะถูกดันหลุดออกมาได้ง่าย 

แต่สำหรับเทคนิค NEAT ของนามนิน เป็นการพัฒนาจากเทคนิค FUE แบบ DHI ใช้ Implanter หรืออุปกรณ์ปลูกผมขนาดเล็กพิเศษ 0.60 มม.นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถเจาะและปักกราฟต์ผมลงไปในหนังศีรษะได้พร้อมกันในครั้งเดียว ทำให้หนังศีรษะไม่ตึงมาก แพทย์จึงปลูกผมแทรกเพื่อเติมความหนาแน่นได้มากถึง 55-60 กราฟต์ผม / ตารางเซนติเมตร

สูตรคำนวณกราฟต์ผม 
ปลูกแบบไหนให้คุ้มค่า
จุดที่คนไข้หลายคนกังวล ก็คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายในการปลูกผม ว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่ แล้วจะคุ้มค่ากับผลลัพธ์ผมใหม่ที่ได้มาหรือไม่ และนี่คือสูตรคำนวณค่าใช้จ่ายที่คุณหมอใช้กันจริง ๆ

ค่าใช้จ่าย = ราคาต่อกราฟต์ผม (ขึ้นอยู่กับเทคนิค) x จำนวนกราฟต์ผมที่ต้องใช้

แม้ว่าสูตรคำนวณจะดูง่าย แต่เมื่อต้องประเมินร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ก็นับว่าเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากทีเดียว เพราะเมื่อคนไข้แต่ละคนมีลักษณะปัญหาผมหรือข้อจำกัดของผมต้นทุนต่างกันแบบไม่ซ้ำ แพทย์จึงต้องเจอโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น การที่คนไข้เข้ามาพบและปรึกษาแพทย์ด้วยตัวเอง จะช่วยให้แพทย์ประเมินและวิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้น และสามารถออกแบบแนวทางการปลูกผมที่ตอบโจทย์การรักษา รวมถึงตรงใจอย่างที่คนไข้ต้องการไปพร้อม ๆ กัน

เติมกราฟต์ผมใหม่ 
ทำไมต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน วิเคราะห์ และคำนวณการจัดสรรกราฟต์ผมในการนำมาปลูกใหม่ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ แพทย์จะต้องควบคุมดูแล รวมถึงลงมือทำหัตถการเอง เพื่อให้กราฟต์ผมต้นทุนถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดนั่นเอง


เริ่มจากการเจาะย้ายกราฟต์ผมออกจากท้ายทอยด้านหลัง ซึ่งแพทย์ของนามนินคิดค้นเทคนิคแบบขั้นบันได ที่ช่วยซ่อนแผลขนาดเล็กได้อย่างแนบเนียน จากนั้นจึงเป็นการคงคุณภาพของกราฟต์ผมระหว่างรอการปลูกใหม่ โดยต้องรักษาสภาพของกราฟต์ผมไว้ในน้ำยาสำหรับแช่กราฟต์โดยเฉพาะ คงความชุ่มชื้นและอุณหภูมิให้พอเหมาะ เพื่อให้เซลล์มีอัตราการเผาผลาญต่ำ จนสามารถช่วยยืดอายุของเซลล์แม้จะอยู่ภายนอกร่างกาย อีกทั้งยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้กราฟต์ผมได้รับการนำไปปลูกใหม่โดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน แพทย์จะคัดเลือกและตัดแต่งกราฟต์ผม โดยแบ่งจำนวนเส้นผมในกราฟต์ พร้อมเลือกขนาดและความหนาบางให้เหมาะสมกับบริเวณที่จะนำไปปลูก เช่นบริเวณไรผมที่หน้าผากจะต้องการกราฟต์ผมเดี่ยวที่มีผมเส้นเดียวขนาดเล็กบาง เพื่อความเป็นธรรมชาตินั่นเอง

เมื่อกราฟต์ผมได้รับการตัดแต่งเรียบร้อย แพทย์จะใช้ Implanter ขนาดเล็กปักกราฟต์ผมลงใหม่ ใช้ความละเอียดพิถีพิถัน วางทิศทางและองศาผมให้กลมกลืน ระยะความหนาแน่นที่พอดี และระยะความลึกที่เหมาะสม ซึ่งเป็นหัตถการที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ตัวจริงเท่านั้น

จบคอร์สทำความรู้จัก “กราฟต์ผม” ฉบับเร่งรัดกับนามนิมแล้ว เท่านี้ คุณก็สามารถพูดคุยปรึกษากับแพทย์ได้ด้วยความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่ใช่และตอบโจทย์ได้ง่ายขึ้น เพื่อเปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ ที่มั่นใจยิ่งกว่าเดิม