Tag : บุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้า ภัยเงียบของคนรักผม
“บุหรี่” คือเจ้าของฉายา ฆาตกรผ่อนส่ง ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวว่า การสูบบุหรี่ 1 ซอง ทำให้ชีวิตสั้นลง 2 ชั่วโมง 20 นาที และการสูบบุหรี่เพียงมวนเดียว ก็ทำให้ชีวิตสั้นลงไป 7 นาที เนื่องจากสารพิษในบุหรี่นั้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ หลายโรค รวมทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ ส่วนของหนังศีรษะและเส้นผม 

ในช่วงหลังมานี้ เราจึงเริ่มเห็นเทรนด์การใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” แทนบุหรี่ทั่วไปแบบเดิม ซึ่งถ้าไม่นับข้อดีในแง่ของการหยุดส่งควันบุหรี่กลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมารบกวนคนรอบข้างแล้ว ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า บุหรี่ไฟฟ้า ควรจะมาทดแทนบุหรี่ทั่วไปหรือไม่ เป็นอันตรายน้อยลง หรือมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน แล้วจะสามารถช่วยในการเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ อีกทั้งในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ซื้อขาย หรือครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การมาถึงของบุหรี่ไฟฟ้า ยังทำให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ในแวดวงของคนรักเส้นผม ว่าหากการสูบบุหรี่แบบเดิมมีส่วนทำให้ผมอ่อนแอ หลุดร่วงง่าย จนนำไปสู่ภาวะผมร่วงและผมบางได้แล้ว ถ้าอย่างนั้น บุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นอันตรายต่อเส้นผมของเรามากน้อยแค่ไหน ผู้ที่จะเข้ารับการปลูกผม ซึ่งคุณหมอมักจะขอให้งดการสูบบุหรี่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนได้หรือไม่ 

...มาทำความเข้าใจบุหรี่ทั้ง 2 แบบ รวมถึงผลลัพธ์ต่อเส้นผมของเราไปพร้อม ๆ กัน...


บุหรี่ทั่วไป VS บุหรี่ไฟฟ้า

เราคงคุ้นเคยกับภาพของบุหรี่ทั่วไป ที่ประกอบด้วยกระดาษ ใบยาสูบ และก้นกรอง เมื่อจุดบุหรี่แล้ว จะเกิดการเผาไหม้ ซึ่งส่วนที่เป็นอันตรายที่สุดของบุหรี่ ก็จะอยู่ที่ “ควันบุหรี่” นั่นเอง เพราะเต็มไปด้วยสารเคมีหลายพันชนิด บ้างเป็นสารพิษและสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดโรคร้ายตามมาได้หลายประเภท 

กระบวนการเผาไหม้ของบุหรี่ ยังทำให้ผู้สูบได้รับอันตรายจากสารบางตัว เช่น ทาร์ หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคมะเร็งอีกด้วย


ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้า จะมีหลักการใช้งานแตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำหรับสูบบุหรี่ที่ไม่ได้ใช้การเผาไหม้ แต่อาศัยกลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ประกอบด้วยแบตเตอรี่ Atomizer ที่ทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ รวมถึงน้ำยา ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดควัน ทำให้สามารถลดความเสี่ยงจากการเผาไหม้ของทาร์ หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำยาระเหยเป็นไอและได้รับการสูบเข้าไป  สารประกอบที่เป็นอันตรายบางชนิดก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงได้เช่นกัน


มีสารอะไรอยู่ในบุหรี่ ?

สำหรับบุหรี่ทั่วไป หากเกิดการเผาไหม้แล้ว จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิดเลยทีเดียว ในบรรดาสารเหล่านั้น มีหลายร้อยชนิดที่อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และมี 42 ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ยังมีสารพิษอื่น ๆ ที่ประกอบอยู่ในบุหรี่มวนเล็ก ๆ 1 มวน ตัวอย่างเช่น

  • นิโคติน (Nicotine) ซึ่งเป็นสารหลักที่เราจะพูดถึงกันในหัวข้อถัดไป
  • ทาร์ (Tar) หรือน้ำมันดิน จะไปจับอยู่ที่เนื้อปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมทำงานได้ไม่เต็มที่
  • คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) เป็นก๊าซแบบเดียวกับที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถยนต์ จะไปขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เหนื่อยง่าย หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
  • ไฮโดรเจนไดออกไซด์ (Hydrogen dioxide) ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) ทำลายเยื่อบุหลอดลมจุดสำคัญ ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้
  • แอมโมเนีย (Ammonia) ออกฤทธิ์ระคายเคือง ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ

และในบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงมีนิโคตินเป็นสารประกอบหลักเช่นเดิม รวมไปถึงสารอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น

  • โพรโพลีนไกลคอล ทำให้เกิดอาการไอ
  • กลีเซอรีน รวมถึงสารแต่งกลิ่นและรส แม้จะเป็นสารเคมีที่สามารถใช้กับอาหารได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นไอและได้รับการสูบเข้าไปแล้ว ยังไม่มีการยืนยันว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่น เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา และปอด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง

นอกจากนั้น ยังพบสารประกอบในไอของบุหรี่ไฟฟ้าอีกหลายชนิด ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู ฟอร์มาลีน และเบนซีน เป็นต้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่นโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง



ทำความรู้จัก “นิโคติน”

เราได้ยินกันจนคุ้นหูว่า นิโคติน คือสารพิษตัวร้ายในบุหรี่ วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักนิโคตินกันมากขึ้น นิโคตินถือเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ผู้สูบบุหรี่อยากกลับมาสูบซ้ำ ๆ โดยสมองจะเกิดการเสพติดหลังได้รับนิโคตินอย่างเร็วที่สุดภายใน 7 วินาทีเท่านั้น (นั่นจึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีสารเสพติดอย่างนิโคตินเป็นสารประกอบหลัก จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่)

นิโคตินนั้นเรียกได้ว่ามีฤทธิ์แรงมากที่สุดในบรรดาสารต่าง ๆ ในควันบุหรี่ เป็นสารคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี หากเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร้อยละ 95 ของนิโคตินจะไปจับตัวรวมกันอยู่ปอด ส่วนที่เหลืออาจจะไปเกาะที่ริมฝีปาก และบางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทั้งกระตุ้น กด และกล่อมระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มการหลั่งสารเอพิเนฟรีน และสารอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคร้าย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด ช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งยังกระตุ้นการหลั่งคอร์ติซอล ที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น นำไปสู่โรคเบาหวานอีกด้วย 



“นิโคติน” อันตรายแฝงต่อเส้นผม

นิโคติน ซึ่งเป็นสารตัวหลักทั้งในบุหรี่ทั่วไปและในบุหรี่ไฟฟ้า จะออกฤทธิ์ทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดทั่วร่างกาย หรือที่เรียกว่า Vasoconstriction ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง รวมถึงเส้นเลือดที่ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์รากผม เมื่อรากผมได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ผลที่ตามมาก็คือ รากผมจะอ่อนแอลง ไม่คงทนแข็งแรงเหมือนปกติ ทำให้เส้นผมเปราะขาด หลุดร่วงง่าย

การสูบบุหรี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดอาการผมร่วง ผมบาง และผมล้าน ซึ่งงานวิจัยจากหลาย ๆ แหล่งก็ให้ข้อสรุปตรงกันว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเกิดภาวะผมร่วง ผมบาง ได้มากกว่า และเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่





“นิโคติน” ศัตรูของผมปลูกใหม่

เมื่อนิโคตินเป็นอันตรายต่อเส้นผมของคนทั่วไป จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณหมอจะขอให้ผู้เข้ารับการปลูกผมระมัดระวังเรื่องการสูบบุหรี่เป็นพิเศษ เพราะเส้นผมปลูกใหม่นั้นบอบบาง เสี่ยงต่อการหลุดร่วงมากกว่าเส้นผมทั่วไปหลายเท่า แม้ว่าจะปัจจุบันจะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดถึงผลกระทบของนิโคตินต่อการงอกของผมปลูกใหม่ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า การสูบบุหรี่จะทำให้โอกาสรอดของกราฟต์ผมปลูกใหม่ลดลง หรือทำให้ผมปลูกใหม่ขึ้นช้า เกิดเป็นเส้นผมที่อ่อนแอ ไม่คงทนแข็งแรง และมีขนาดเส้นเล็กบางกว่าที่ควร

นอกจากนั้น การที่นิโคตินไปทำให้เส้นเลือดหดตัว หนังศีรษะที่อาจมีแผลหลงเหลืออยู่หลังการทำหัตถการปลูกผม ก็จะได้รับสารอาหารและออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้แผลยิ่งหายช้า และอาจมีส่วนทำให้กราฟต์ผมหลุดร่วงไปก่อนเวลาอันควร



คำแนะนำจากคุณหมอ

คุณหมอจะแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ให้งดการสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ทั่วไป และบุหรี่ไฟฟ้า ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการปลูกผม เพื่อเตรียมสภาพของหนังศีรษะและเซลล์รากผมให้พร้อมสำหรับการปลูกผมใหม่อย่างเต็มที่ และควรงดการสูบบุหรี่ 2 สัปดาห์หลังปลูกผมไปแล้วด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดของเส้นผมปลูกใหม่ให้มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น หากใครสามารถเลิกบุหรี่ในระยะยาวได้ ก็จะช่วยคืนความแข็งแรงให้กับเส้นผมเดิม และเพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างคงทนถาวรให้กับเส้นผมปลูกใหม่ จนสามารถอยู่คู่กับหนังศีรษะของเราตามวงจรธรรมชาติได้นานขึ้นด้วย