Tag : เทคนิคNEAT
แกะรอยความแตกต่าง ภาวะผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์ ในผู้ชายและผู้หญิง
อาการผมร่วง ผมบาง ที่อาจนำไปสู่ภาวะศีรษะล้าน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยมีปัจจัยหลายประการที่อาจเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียด การขาดสารอาหาร โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลข้างเคียงจากยาหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมหรือมลภาวะ แต่ตัวการสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมของคนเรา ก็คือ “กรรมพันธุ์” ที่ส่งต่อกันมาในครอบครัว เรียกได้ว่าอาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์นั้น สามารถพบได้ถึงร้อยละ 90 – 95 จากสาเหตุทั้งหมดทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีจุดที่น่าสังเกตของอาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ ที่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งหากเราสังเกตพบอาการเหล่านี้ ก็จะทำให้สามารถรักษาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น และยิ่งสังเกตพบเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย


ลักษณะของอาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ในผู้ชาย

ในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะพบปัญหาผมร่วงและผมบางในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากยีนหรือหน่วยพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะดังกล่าวนั้น จะแสดงลักษณะเด่นในเพศชาย และแสดงลักษณะด้อยในเพศหญิง ไม่เพียงเท่านั้น ฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเตอโรน (testosterone) ยังเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ กล่าวคือ ผู้ชายที่ได้รับการส่งต่อลักษณะผมร่วงและผมบางทางพันธุกรรม จะมีเอนไซม์ที่ชื่อ 5-alpha reductase ในปริมาณสูงบริเวณหนังศีรษะ และเอนไซม์ตัวนี้เอง ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ให้กลายเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone) หรือ DHT ซึ่งทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะหดตัวลง จนเส้นผมที่เกิดใหม่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ และหลุดร่วงเร็วกว่าปกติ โดยเราจะพบลักษณะของอาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ในผู้ชายได้ดังนี้ 

  • ผมเริ่มร่วงจากบริเวณหน้าผาก เว้าเข้าไปจนถึงกลางศีรษะ (รูปแบบ A)
  • ผมเริ่มร่วงจากบริวณกลางศีรษะ ขยายออกมารอบ ๆ จนเหลือเพียงผมบริเวณท้ายทอย มักพบได้ทั่วไปในผู้ชายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชายเอเชีย (รูปแบบ O)
  • ผมเริ่มร่วงจากบริเวณหน้าผากทั้งสองข้าง เว้าเข้าไปเป็นรูปตัว M สามารถพบได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก (รูปแบบ M)
  • ผมเริ่มร่วงจากบริเวณกลางศีรษะ และบริเวณหน้าผากทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงและผมบางอย่างรุนแรงที่สุด (รูปแบบ O ผสมกับรูปแบบ M)
  • เป็นที่น่าสังเกตว่า ผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้าง และผมบริเวณท้ายทอย จะมีความหนาแน่นและมีขนาดเส้นผมปกติ เนื่องจากรากผมบริเวณนั้นมีความแข็งแรง และมีลักษณะพิเศษที่สามารถทนทานต่อฮอร์โมน DHT ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการผมร่วงและผมบางได้มากกว่าปกติ
  • อาจมีอาการหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงบริเวณรอบรูขุมขน
  • มีลักษณะหนวดเคราดก และผิวหน้ามันร่วมด้วย เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง
  • ไม่จำเป็นต้องมีประวัติของอาการผมร่วงและผมบางในรุ่นพ่อกับแม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการแสดงออกของยีน ที่อาจแสดงออกข้ามรุ่นได้




ลักษณะของอาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ในผู้หญิง

  • จุดแตกต่างที่สำคัญคือ ผลจากกรรมพันธุ์ไม่ได้มีผลต่อการร่นของแนวผมบริเวณหน้าผากของผู้หญิง หรือมีผลน้อยมาก (ดังนั้น หากคุณพบปัญหาผมร่วงและผมบางบริเวณหน้าผาก อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็เป็นได้ เช่น การมัดผมแน่น ๆ เป็นเวลานาน การเสียสมดุลของฮอร์โมนเอนโดรเจนในผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร ตลอดจนปัญหาสุขภาพ อย่างเช่นโรคเบาหวาน หรือโรคไทรอยด์ เป็นต้น)
  • จุดที่น่าสังเกตคือ ผู้หญิงจะมีผมบางลงบริเวณกลางศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงรอยแสกผมที่จะค่อย ๆ ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเส้นผมบริเวณนั้นก็จะมีขนาดเล็กและอ่อนแอลงด้วย ในที่นี้อาจแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรง ซึ่งบริเวณที่ผมร่วงและผมบางจะขยายไปทางด้านข้างเป็นวงกว้าง
  • ในขณะที่ผู้ชายจะยังคงมีผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้างและบริเวณท้ายทอยที่หนาแน่นและแข็งแรง ตรงกันข้าม ผมของผู้หญิงในบริเวณดังกล่าวอาจมีความหนาแน่นลดลง หรือมีขนาดของเส้นผมเล็กลงได้ แต่ไม่รุนแรงเท่าบริเวณกลางศีรษะ
  • ผู้หญิงจะมีความรุนแรงของอาการผมร่วงและผมบางจากพันธุกรรมน้อยกว่าผู้ชาย ไม่ถึงขั้นนำไปสู่ภาวะผมล้าน
  • อาจมีอาการหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงบริเวณรอบรูขุมขน
  • ไม่จำเป็นต้องมีประวัติของอาการผมร่วงและผมบางในรุ่นพ่อกับแม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการแสดงออกของยีน ที่อาจแสดงออกข้ามรุ่นได้
  • อาจมีประวัติความผิดปกติของรอบเดือนในอดีตร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ลักษณะผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ในผู้หญิง จะยิ่งแสดงเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดรอบเดือน



หากสันนิษฐานได้ว่า อาการผมร่วงและผมบางของเราน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกผมแบบถาวรได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรักษา ที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็ก ลดอาการเจ็บและอาการบวมช้ำหลังการรักษา ลดระยะเวลาในการพักฟื้นเนื่องจากเหลือเพียงแผลขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ด้านหลังเส้นผม ทำให้สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติได้ทันที ทั้งยังให้ผลลัพธ์เส้นผมใหม่ที่หนาแน่น แข็งแรง และกลมกลืนไปกับเส้นผมเดิมอย่างเป็นธรรมชาติ