"ไม่ใช่คำสาปหรือความลำเอียงของพระเจ้า แต่เรื่องของเส้นผมบนศีรษะของคนเรา เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติล้วน ๆ"
วันนี้ เราจะเปิดบทเรียนชีววิทยาเล็ก ๆ ที่จะช่วยไขความลับระดับพันธุกรรม และตอบคำถามว่า ทำไมกันนะ ผู้ชายจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ “ผมล้าน” และ “ผมร่วง” มากกว่าผู้หญิง
ผู้หญิงกับผู้ชายมีลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปที่แตกต่างกันเป็นปกติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับในเพศผู้หรือเพศเมียของสัตว์ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมี “ยีน” หรือ “หน่วยควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม” ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ “เพศ” อยู่
หากยีนเหล่านั้นมีตำแหน่งอยู่บน “โครโมโซมเพศ” โดยตรง (Sex-linked traits) เพศก็จะมีผลต่อการแสดงออกของยีน แต่ถ้ายีนเหล่านั้นมีตำแหน่งอยู่บน “ออโตโซม” นั่นแปลว่า ไม่ใช่แค่เพศเท่านั้นที่มีผลต่อการแสดงออกของยีน แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น อย่างเช่นฮอร์โมนในร่างกายด้วย ซึ่งจะพบได้ใน 2 รูปแบบต่อไปนี้
- ลักษณะทางพันธุกรรมจำกัดเพศ หรือ Sex-limited traits
แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มียีนควบคุมลักษณะเช่นนี้อยู่บนออโตโซม แต่ลักษณะดังกล่าวจะแสดงออกในเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การที่ผู้ชายมีหนวดเครา มีเสียงห้าว หรือการที่ผู้หญิงสามารถผลิตน้ำนมเลี้ยงลูกได้ ซึ่งฮอร์โมนจะเป็นตัวควบคุมให้ลักษณะนี้เกิดเพียงแค่เฉพาะในผู้ชายหรือผู้หญิง
- ลักษณะทางพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเพศ หรือ Sex-influenced traits
เช่นเดียวกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มียีนควบคุมลักษณะเช่นนี้อยู่บนออโตโซม และลักษณะดังกล่าวจะแสดงออกได้ในทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมีฮอร์โมนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราพบลักษณะเหล่านี้ได้มากในเพศหนึ่ง และพบได้น้อยในอีกเพศหนึ่ง
ตัวอย่างที่ชัดเจนของที่สุดของรูปแบบนี้ ก็คือลักษณะ “ผมล้าน” ที่เกิดขึ้นได้ทั้งสองเพศ แต่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากเพศชายมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) มากกว่านั่นเอง และหากผู้หญิงคนไหนที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในระดับสูง ก็จะเกิดอาการ “ผมล้าน” ได้มากกว่าปกติเช่นกัน
สำหรับผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดลักษณะผมล้านผ่านทางพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า Androgenetic alopecia นั้น จะพบว่าเอนไซม์ 5-alpha reductase ที่บริเวณหนังศีรษะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเอนไซม์ที่ว่านี้ จะไปเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ให้กลายเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone) หรือ DHT
เจ้าฮอร์โมน DHT นี่เอง คือตัวการที่ส่งผลให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเล็กลง ทำให้เส้นผมเกิดใหม่มีรากผมอ่อนแอ เส้นบางและสั้นลง จนหลุดร่วงเร็วกว่าปกติ เป็นที่มาของอาการผมร่วง ผมบาง และผมล้าน ที่พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิงนั่นเอง
น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ลักษณะผมล้าน เรียกได้ว่าเป็น Polygenic trait หรือเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกควบคุมด้วยยีนหลายคู่ และมีระดับการแสดงออกของอาการแตกต่างกันไปหลายระดับ เช่นสีตาของมนุษย์ เกิดจากการที่ยีนส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทำให้ตามีสีน้ำตาลเข้ม ไล่มาจนถึงสีน้ำตาลอ่อน รวมไปถึงตัวอย่างอื่น ๆ เช่นลักษณะสีผิว ลักษณะความสูง ตลอดจนสีของเมล็ดพืชหรือขนาดของผลไม้ด้วย ที่สำคัญ ยีนเหล่านี้ รวมถึงยีนผมล้าน อาจได้รับการถ่ายทอดมาจากฝั่งพ่อหรือแม่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรับมาจากฝั่งพ่อเพียงฝ่ายเดียว
การทำความเข้าใจที่มาของอาการผมร่วง ผมบาง และผมล้าน ผ่านรหัสพันธุกรรมที่แม้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะช่วยให้การรับมือกับปัญหาเส้นผม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเราเริ่มรู้สึกกังวลจากอาการผมร่วงหรือผมบาง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมโดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการรุนแรงขึ้น หรืออายุมากขึ้น เนื่องจากหากแพทย์มีโอกาสวินิจฉัยได้เร็ว ก็จะช่วยให้ทราบว่าคนไข้มีระดับความเสี่ยงสูงแค่ไหนที่จะเกิดปัญหาผมล้านในอนาคต และรีบรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้ผมสวยสุขภาพดีอยู่คู่กับหนังศีรษะของเราไปนาน ๆ