ปัญหาเส้นผม... อุปสรรคความมั่นใจของผู้หญิง
ไม่ใช่แค่ผู้ชายเท่านั้นที่ต้องกังวลใจกับปัญหาผมร่วงและผมบาง เพราะผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ประสบกับปัญหาผมที่ส่งผลกระทบไปถึงความมั่นใจในการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน บ้างก็ไม่สามารถจัดทรงผมได้ตามใจต้องการ บ้างต้องคอยปกปิดส่วนที่ผมบางหรือหายไป และบางคนก็ดูมีอายุเกินวัยเพียงเพราะเส้นผมที่ไม่หนาแน่นเหมือนเคย นั่นจึงทำให้การปลูกผมเริ่มกลายเป็นที่สนใจในหมู่ผู้หญิงหลากหลายช่วงวัยมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงมักจะให้ความสำคัญกับความสวย บุคลิกภาพ และการดูแลตัวเองให้ดูดีมาเป็นอันดับแรก ๆ ...มาทำความรู้จักกับปัญหาเส้นผมของผู้หญิง ว่าเกิดมาจากสาเหตุอะไร และจะมีความแตกต่างจากปัญหาผมของผู้ชายอย่างไรบ้าง...
แม้ว่าเส้นผมของเราจะหลุดร่วงเป็นปกติอยู่แล้วในทุก ๆ วัน แต่นี่คือสัญญาณผมร่วงที่บ่งบอกว่า สภาพหนังศีรษะและเส้นผมของเรากำลังมีปัญหาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอาการผมร่วงแล้วไม่งอกขึ้นมาใหม่ทดแทน หรือขึ้นใหม่แต่เส้นเล็กและบางลงกว่าเดิม บางคนอาจมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และที่สำคัญคือ ผมร่วงในแต่ละวันมากกว่า 100 เส้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาการผิดปกติ หรือเข้าสู่ภาวะผมร่วงและผมบางแล้วนั่นเอง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงในผู้หญิง ก็มาจากทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคและความเจ็บป่วย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
อาการผมร่วงและผมบางจากกรรมพันธุ์ สามารถส่งต่อถึงกันผ่านคนในครอบครัว พบได้ในทั้งผู้ชายและผู้หญิง
สังเกตได้ว่า เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น ผมจะค่อย ๆ บางลงจนเห็นหนังศีรษะชัดเจนขึ้นในบางราย ทั้งนี้ เป็นเพราะการไหลเวียนเลือดบริเวณหนังศีรษะลดน้อยลงประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์รากผมก็เสื่อมถอยลง ทำให้รากผมหดตัว และเส้นผมไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่เหมือนเมื่อช่วงที่อายุยังน้อย
ความเครียดในระดับที่รุนแรง อาจทำให้การทำงานของรากผมหยุดชะงัก จนเส้นผมหลุดร่วงจำนวนมากในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนในบางราย ความเครียดหรือความวิตกกังวลอาจส่งผลต่อเนื่องไปสู่อาการชอบดึงผมตัวเอง ซึ่งเป็นการทำร้ายเส้นผมและหนังศีรษะโดยตรง
ผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก อดอาหาร หรือผู้ป่วยโรค Anorexia หรือ Bulimia ซึ่งได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนเพียงพออาจพบอาการเส้นผมหลุดร่วง เนื่องจากขาดโปรตีนหรือวิตามินสำคัญจนทำให้รากผมอ่อนแอ
สารเคมีและความร้อนจากการย้อม ดัด ยืด หรือทำสีผมบ่อยเกินไปโดยขาดการบำรุง จะทำให้เส้นผมเปราะบางและหลุดร่วงง่ายยิ่งขึ้น
อาการผมร่วงอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน โรคไต ฯลฯ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดต่าง ๆ ด้วย
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิดในช่วงตั้งครรภ์และช่วงหลังคลอดบุตร อาจส่งผลให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ แต่เส้นผมจะกลับขึ้นมาใหม่ตามปกติภายในช่วงระยะ 6 – 12 เดือน
รูปแบบของอาการผมร่วงและผมบางในผู้หญิง ก็ค่อนข้างต่างจากผู้ชาย โดยจะมีลักษณะเด่นอยู่ 2 รูปแบบ นั่นคือรูปแบบผมบางบริเวณกลางศีรษะ และรูปแบบแนวผมถอยร่นจนทำให้หน้าผากกว้าง ซึ่งสาเหตุหลักของอาการดังกล่าวก็คือการส่งต่อพันธุกรรมลักษณะผมร่วงสู่กันในครอบครัวนั่นเอง
ผู้หญิงที่ประสบปัญหาผมบางตรงกลางศีรษะ เกิดจากการความไม่สมดุลระหว่างเส้นผมที่หลุดร่วงไป กับแส้นผมที่งอกขึ้นใหม่ เมื่อผมใหม่งอกขึ้นน้อยกว่า ผมจึงดูบางลงเรื่อย ๆ สังเกตได้ว่าผมมักจะเริ่มบางจากบริเวณรอยแสก จนกระทั่งเห็นหนังศีรษะชัดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง แต่จะไม่ถึงกับศีรษะล้านอย่างชัดเจนทั้งหมดเหมือนผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) มากกว่าผู้หญิง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เองมีโอกาสจะถูกเอนไซม์เปลี่ยนให้กลายเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone) หรือ DHT และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของรากผมลดลง ทำให้เส้นผมที่งอกใหม่ยิ่งมีขนาดเล็ก อ่อนแอ หลุดร่วงง่าย
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็กำลังพบเจอกับปัญหาแนวผมด้านหน้าถอยร่นเข้าไปจนทำให้หน้าผากกว้าง บางคนอาจเห็นพื้นที่ผมเว้าเข้าไปสองข้างเป็นรูปตัว M ทำให้เป็นกังวลเรื่องความสวยงาม ความอ่อนวัย หรือสูญเสียความมั่นใจในการออกไปพบปะผู้คนในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผมบางกลางศีรษะ หรือปัญหาแนวผมถอยร่นจนหน้าผากกว้าง “การปลูกผม” เป็นทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยคืนเส้นผมหนาแน่นและกรอบหน้าเนียนสวยให้กับผู้หญิงได้ เพียงลองเข้ามาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเส้นผม ถึงรูปแบบของปัญหาผมที่เป็นอยู่ รวมถึงแนวความต้องการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแพทย์สามารถใช้เทคนิคการปลูกผมแบบถาวร ด้วยการย้ายรากผมจากบริเวณด้านหลังท้ายทอย มาเติมเต็มบริเวณที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหน้าผากหรือกลางศีรษะ โดยไม่ต้องผ่าตัดและไม่ต้องพักฟื้น นอกจากเส้นผมใหม่จะดูหนาแน่น กลมกลืน และเป็นธรรมชาติแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ปรับแต่งแนวผมและกรอบหน้าใหม่ เพื่อความอ่อนวัยและความสวยที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นด้วย