ไขปริศนา “ผมหงอก” กับ “ความเครียด”
“ผมหงอก” เป็นอีกหนึ่งปัญหากวนใจที่หลายคนกังวลว่าจะทำให้เสียภาพลักษณ์จนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการพบปะผู้คนในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ผู้คนมักจับคู่ว่าเป็นสาเหตุของอาการผมหงอกก็คงหนีไม่พ้น “ความเครียด” แต่ทราบหรือไม่ว่า ความเครียดกับอาการผมหงอกขาวก่อนวัย ยังคงเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบอยู่จนถึงทุกวันนี้ ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในลักษณะใด
โดยปกติแล้ว สีผมของคนเราจะเริ่มหงอกขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัย ถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ โดยเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่าเมลาโนโซต์ (melanocytes) ที่เป็นผู้ผลิตเม็ดสีเมลานิน (melanin) นี่เอง ทำให้เส้นผมของเราเป็นสีดำ แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น ความสามารถในการปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระก็จะลดลงจากในวัยหนุ่มสาว ทำให้เซลล์เมลาโนโซต์ค่อย ๆ หายไป ส่งผมให้เส้นผมเปลี่ยนสีตามไปด้วยนั่นเอง แต่ถ้าเราเริ่มมีผมหงอกขาวตั้งแต่ก่อนวัย 30 ล่ะ ความเครียดจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการดังกล่าวอย่างไร
นอกจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่นการสูบบุหรี่ การสัมผัสมลพิษทางอากาศ หรือการขาดสารอาหารที่เหมาะสม เป็นที่ทราบกันดีว่าความเครียดสามารถส่งผลต่ออาการผมหงอกอย่างฉับพลันได้ เช่น กลุ่มอาการมารี อองตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette Syndrome) ที่ทำให้พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ อดีตราชินีฝรั่งเศส เกิดอาการผมหงอกขาวโพลนทั้งศีรษะภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนก่อนถูกประหารด้วยกิโยติน แต่ก็ยังไม่พบคำตอบอยู่ดีว่าความเครียดส่งผลให้ผมของคนเราหงอกขาวได้ในเวลาอันสั้นด้วยกลไกแบบใด
ไม่นานมานี้ นักวิจัยเริ่มค้นพบความเชื่อมโยงของ “ความเครียด” กับกลไกการผลิตเม็ดสีบริเวณเส้นผม โดยพวกเขาทดลองสร้างภาวะเครียดรุนแรงให้กับกลุ่มหนูทดลองขนสีดำอายุน้อย ผลที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านไม่กี่สัปดาห์ พบว่าขนสีดำของหนูทดลองกลุ่มนี้กลายเป็นสีขาวทั่วทั้งตัว
สาเหตุเนื่องมาจากเมื่อหนูทดลองรู้สึกเจ็บปวดหรือหวาดกลัว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ทำให้หัวใจเต้นถี่ขึ้นและความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบประสาทที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง นำไปสู่การทำลายเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์เมลาโนโซต์ที่ผลิตเม็ดสีในปุ่มรากผม หลังจากสเต็มเซลล์ผลิตเม็ดสีเหล่านี้ถูกทำลายจนหมดลง หนูทดลองจึงไม่สามารถสร้างสีขนได้อีกเลย
นอกจากนั้น นักวิจัยยังตรวจสอบเปรียบเทียบหน่วยพันธุกรรมหรือยีนของหนูในภาวะเครียดกับหนูทดลองปกติ พบว่าหนูที่มีความเครียดจะผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาสร้างความเสียหายต่อสเต็มเซลล์เมลาโนไซต์ ซึ่งถ้าให้ยาที่ยับยั้งโปรตีนชนิดนี้กับหนูทดลองในภาวะเครียด ก็จะช่วยชะลอการเกิดการเปลี่ยนสีขนได้
ทั้งหมดนี้เป็นผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา ร่วมกับมหาวิทยาลัย Sao Paulo ประเทศบราซิล ที่พยายามจะไขความลับเกี่ยวกับภาวะเครียดและอาการผมหงอกมาเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าการค้นพบครั้งล่าสุดนี้จะยังเป็นเพียงการวิจัยในกลุ่มหนูทดลอง แต่นักวิจัยเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในการพัฒนายาตัวใหม่ ๆ หรือวิธีการที่จะป้องกันและชะลออาการผมหงอกก่อนวัยที่เกิดจากความเครียดได้ในอนาคต