คำว่า “การปลูกผมครั้งที่ 2” น่าจะชวนให้หลาย ๆ คนเกิดความสงสัยในใจอยู่ไม่น้อย ว่าการปลูกผมแค่ครั้งเดียวไม่เพียงพอหรืออย่างไร ทำไมจึงต้องปลูกเพิ่มอีกครั้งด้วย การปลูกผมครั้งที่ 2 จะแตกต่างจากครั้งแรกอย่างไร แล้วตัวเราเองจำเป็นจะต้องปลูกผมถึง 2 ครั้งหรือไม่
...มาเคลียร์ 4 คำถามคาใจเกี่ยวกับการปลูกผมครั้งที่ 2 ไปพร้อม ๆ กันได้เลย...
1. ทำไมต้องปลูกผมครั้งที่ 2 ??
การปลูกผม เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของชีวิตก็ว่าได้ ไม่ว่าใครก็คงอยากที่จะปลูกผมให้จบในครั้งแรกครั้งเดียว แต่บางครั้งก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้หลายคนจำเป็นต้องเข้ารับการปลูกผมอีกเป็นครั้งที่ 2 อย่างเช่น
ปลูกผมครั้งแรกผ่านไปแล้ว แต่ยังดูผมบางอยู่เลย
ความผิดพลาดจากการปลูกผมครั้งแรกที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือคำนวณและวางแผนการปลูกอย่างไม่รอบคอบนัก อาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ปลูกผมแล้วยังรู้สึกว่าผมบาง หรือที่เรามักได้ยินกันว่าปลูกผมไม่ติดนั่นเอง
และในบางกรณีอาจเป็นตัวคนไข้เองที่ดูแลสุขภาพเส้นผมหลังปลูกด้วยความใส่ใจน้อยเกินไป ไม่ได้รับประทานยาหลังปลูกผมครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง เผลอทำพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ผมใหม่หลุดร่วงก่อนเวลาอันควรในปริมาณมาก เช่น ปล่อยให้บริเวณผมปลูกใหม่ถูกกระทบกระเทือน ออกกำลังกายหนักเกินไป หรือใช้ความร้อนกับเส้นผม โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังปลูก ซึ่งรากผมยังไม่ฝังตัวมั่นคงในชั้นหนังศีรษะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ผมจะแลดูหนาแน่นสุขภาพดีขึ้น กลับยังดูบาง จนไม่สามารถเรียกคืนความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดีให้กับเจ้าของเส้นผมได้ ดังนั้น การปลูกผมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้ดีทีเดียว
ปลูกผมครั้งแรกไปแล้วนะ แต่ก็ยังเกิดภาวะผมล้านต่อ!!
ในบางครั้ง การปลูกผมใหม่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาผมร่วงผมบางทั่วทั้งศีรษะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากปัจจัยทางชีวภาพของร่างกายเราเอง ทำให้แม้ว่าจะปลูกผมใหม่ไปแล้ว รวมทั้งดูแลสุขภาพผมอย่างดีแล้ว ก็ยังเกิดภาวะผมร่วง ผมบาง และผมล้านตามมาหลังจากนั้นได้
ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สาเหตุหนึ่งของอาการผมร่วง ผมบาง เกิดจากลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดสู่กันในครอบครัว ร่วมกับปัจจัยจากฮอร์โมนเพศ โดยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) จะถูกเจ้าเอนไซม์ที่มีชื่อว่า 5-alpha reductase บริเวณหนังศีรษะ เปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone) หรือ DHT ทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ผมที่เกิดขึ้นใหม่ มีรากผมอ่อนแอ มีลักษณะของเส้นผมที่บางและสั้น จนหลุดร่วงได้เร็วกว่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดี ๆ จะพบว่า อาการผมร่วงและผมบางมักเกิดกับเส้นผมบริเวณหน้าผากหรือกลางศีรษะ ในขณะที่ผมบริเวณท้ายทอยมักจะหลงเหลืออยู่เป็นบริเวณสุดท้าย นั่นเป็นเพราะรากผมบริเวณท้ายทอยมีความแข็งแรง ทนทานต่อฮอร์โมน DHT มากเป็นพิเศษ ดังนั้น ในการปลูกผมใหม่ แพทย์จึงต้องเลือกนำผมจากบริเวณท้ายทอยนี่เอง ย้ายมาปลูกทดแทนใหม่ในบริเวณที่เป็นปัญหา โดยคุณสมบัติด้านฮอร์โมน DHT จะยังคงติดมากับรากผมเหล่านี้ด้วย ทำให้เส้นผมมีความแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่ายเหมือนเส้นผมเก่า
ถึงแม้เราจะมั่นใจได้ว่า ผมปลูกใหม่จะมีความแข็งแรงและสามารถอยู่กับเราได้ไปตลอดชีวิต แต่อย่าลืมว่าเราทำการปลูกผมใหม่เฉพาะในบางจุดของศีรษะเท่านั้น ดังนั้น ในส่วนที่เป็นผมเดิม ก็จะยังคงได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน DHT ทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงง่ายอยู่ นี่เองที่เป็นสาเหตุของภาวะผมล้านต่อแม้จะทำการปลูกผมใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
จริงอยู่ที่ว่า การดูแลบำรุงเส้นผมอย่างดี และการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายเส้นผม ก็สามารถช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผมลงได้ แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า มีภาวะผมร่วงและผมบางจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์ แพทย์อาจให้คำแนะนำในการปลูกผมเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเติมผมให้ดูหนาแน่นเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ไม่พอใจทรงผมเดิมจากการปลูกครั้งแรก
ความชอบและความพึงพอใจ เป็นรสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะรู้สึกยังไม่มั่นใจเต็มร้อยกับทรงผมที่เกิดจากการปลูกผมใหม่ในครั้งแรก หรือต้องการเปลี่ยนบุคลิกเพื่อเป้าหมายในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ในกรณีนี้ การปลูกผมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็เป็นทางออกที่สามารถช่วยได้เช่นกัน
2. การปลูกผมครั้งที่ 2 มีข้อจำกัดอย่างไร ??
จำนวนกราฟต์ผมที่พร้อมสำหรับการปลูกใหม่ อาจไม่เพียงพอ
อย่างที่ทราบแล้วว่า แพทย์จะย้ายกราฟต์ผมต้นทุนจากบริเวณท้ายทอยด้านหลัง ซึ่งมีความแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่าย เพื่อนำมาปลูกทดแทนในบริเวณที่ผมบาง อย่างไรก็ตาม กราฟต์ผมคุณภาพดีแบบนี้มีอยู่เพียงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนไข้ผ่านการปลูกผมครั้งแรกและใช้กราฟต์ผมบางส่วนไปเรียบร้อยแล้ว จึงจำเป็นต้องประเมินอีกครั้งว่า กราฟต์ผมคุณภาพดีที่ยังเหลืออยู่ จะมีจำนวนเพียงพอที่จะแก้ปัญหาผมในครั้งที่ 2 ได้อย่างครอบคลุมหรือไม่
พื้นที่ที่ต้องการปลูกผมใหม่ อาจกินบริเวณกว้าง
ยิ่งถ้าปัญหาผมบางกินพื้นที่ค่อนขว้างกว้าง หรือมีหลายจุด ก็มีโอกาสที่กราฟต์ผมต้นทุนจากด้านหลังท้ายทอย ซึ่งเหลืออยู่จากการปลูกผมครั้งแรก จะมีจำนวนไม่เพียงพอ จนทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาผมได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ ทักษะและประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการวางแผนการปลูกผมใหม่ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยบริหารจำนวนกราฟต์ผมต้นทุน ให้เหมาะสมกับลักษณะหรือระดับความรุนแรงของปัญหาผม รวมถึงพื้นที่ที่ต้องการปลูกผมใหม่ ส่งผลให้การปลูกผมครั้งที่ 2 บนข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถที่จะประสบความสำเร็จอีกครั้งก็เป็นได้
รอยแผลจากการปลูกครั้งแรก
หนังศีรษะที่หลงเหลือรอยแผลจากการปลูกผมครั้งแรก ก็เป็นข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งที่อาจทำให้ผมใหม่ปลูกติดยากขึ้น หลุดร่วงง่ายขึ้น ดังนั้น การเลือกแนวทางการรักษาที่ทิ้งรอยแผลไว้น้อยที่สุดตั้งการปลูกผมครั้งแรก ก็มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้การปลูกผมครั้งที่ 2 มีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเช่นกัน
3. สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปลูกผมครั้งที่ 2 ??
หลายคนคิดว่า การปลูกผมครั้งที่ 2 จะช่วยจัดการกับปัญหาผมบาง และเติมผมให้แลดูหนาแน่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การปลูกผมซ้ำหลังจากที่เคยปลูกมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็มีข้อจำกัดอย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถการันตีได้ว่าการปลูกผมจะประสบความสำเร็จเต็มร้อยอย่างที่คิดภาพไว้
ขณะเดียวกัน คนไข้บางคนก็มีปัญหากับทิศทางเส้นผมหลังจากทำการปลูกใหม่ในครั้งแรก ซึ่งผมใหม่อาจจะเรียงตัวแบบย้อนแย้งหรือชี้ผิดทิศผิดทางไปจากเส้นผมเดิม ทำให้ดูไม่กลมกลืน ไม่เป็นธรรมชาติ อยากจะจัดแต่งทรงผมก็ทำได้แค่เฉพาะบางทรงเท่านั้น คนไข้ที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ก็คาดหวังว่าการปลูกผมครั้งที่ 2 จะช่วยแก้ไขเรื่องทิศทางเส้นผมได้ ซึ่งนี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะทิศทางของเส้นผม เมื่อปลูกลงไปแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ดังนั้น ทิศทางของเส้นผมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และควรให้ความสำคัญตั้งแต่การปลูกครั้งแรก ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เส้นผมแต่ละเส้นมีองศาความโค้งต่างกัน พื้นที่ปลูกผมแต่ละบริเวณก็มีทิศทางการเรียงตัวของเส้นผมต่างกัน แพทย์จึงต้องคัดเลือกเส้นผมให้มีองศาความโค้งเหมาะสมกับบริเวณที่จะปลูก และค่อย ๆ ปลูกโดยปักกราฟต์ผมให้ได้ทิศทางที่กลมกลืนไปกับเส้นผมเดิม แลดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด จนสามารถจัดแต่งทรงผมได้อิสระทุกสไตล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมยาวขึ้นแล้วและยิ่งเห็นทิศทางของเส้นผมชัดเจน ซึ่งคนไข้จะต้องอยู่กับเส้นผมในทิศทางเช่นนั้นไปจนตลอดชีวิต
4. ทำอย่างไรหากไม่อยากเสี่ยงปลูกผมซ้ำครั้งที่ 2 ??
เพราะการปลูกผมครั้งที่ 2 มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาเต็มร้อยอย่างที่คาดหวังไว้ และคนเราก็คงไม่สามารถปลูกผมได้บ่อย ๆ หลายคนปลูกได้ไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้นเอง เนื่องจากจำนวนกราฟต์ผมต้นทุนด้านหลังท้ายทอยมีจำกัด ดังนั้น คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็คือ ปลูกผมให้ดีที่สุดตั้งแต่ครั้งแรก ให้ความสำคัญกับการเลือกแนวทางรักษาที่น่าเชื่อถือและตอบโจทย์ความต้องการของเรามากที่สุด รวมไปถึงความใส่ใจในการดูแลเส้นผมหลังปลูก รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ผลลัพธ์จากการปลูกผมครั้งแรกออกมาอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด
และสำหรับบางคนที่มีปัญหาภาวะผมร่วง ผมบาง อยู่ในระดับรุนแรง ก็สามารถเข้ามาพูดคุยปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะช่วยคำนวณกราฟต์ผมต้นทุน และประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อคืนผมสวย หนาแน่น สุขภาพดี พร้อมบุคลิกภาพและความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับเจ้าของเส้นผมได้อีกครั้ง